1. การทำความเข้าใจความหมายของ “กฎหมาย” ต้องทำความเข้าใจในปรัชญากฎหมายในสำนักความคิดต่างๆ และจะทำให้ผู้ศึกษามีทัศนะคติที่กว้างขึ้น
2. สำนักความคิดต่างๆ หมายถึงแนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมายที่นักปราชญ์กฎหมายกลุ่มหนึ่งมีความคิดเห็นหรือความเชื่อตรงกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัยก็ตาม
3. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกฎหมายมีส่วนสำคัญหลายประการ ทั้งแนวความคิดทางศาสนา จารีตประเพณี ความคิดเห็นของนักปรัชญากฎหมาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้และการพัฒนากฎหมาย
1) ประวัติสำนักความคิดต่างๆ ในทางกฎหมาย
1. แนวความคิดของสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ ให้ความสำคัญอยู่ที่การใช้เหตุผลของมนุษย์ตามธรรมชาติของมนุษย์ กฎหมายที่แท้จริงคือ เหตุผลที่ถูกต้อง สอดคล้องกับหลักธรรมชาติ ใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับการใช้อำนาจโดยชอบธรรม เป็นกระแสความคิดหลักในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใช้เหตุผลในการโต้แย้ง การใช้อำนาจรัฐ
2. แนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง เน้นการมีระบบกฎหมายที่แน่นอน มีระเบียบและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดทางการเมืองและทฤษฎีกฎหมายที่จะสนับสนุนความชอบธรรมของการใช้อำนาจโดยเด็ดขาดของรัฐ ในการตรากฎหมายต่างๆ ขึ้นใช้บังคับในการปกครองประเทศอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ
3. แนวความคิดของสำนักความคิดทางกฎหมาย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้ความหมายของกฎหมาย คือปรากฏการณ์ อันหนึ่งซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากการเมือง กล่าวคือ เศรษฐกิจและการเมืองต้องการจะแสดงคำสั่งคำบัญชาอย่างไร สิ่งที่แสดงออกมาคือกฎหมาย
4. แนวความคิดของสำนักความคิดฝ่ายสังคมวิทยากฎหมายเห็นว่า หากกฎหมายมีสภาพที่ตรงต่อความจริงในสังคม ก็ควรมีการเปลี่ยนหลักแห่งกฎหมายทุกครั้งที่สังคมเปลี่ยนแปลง และหากผู้ใช้กฎหมายเข้าใจในบริบทของสังคม การใช้กฎหมายจะลดความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้มีการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้น
2) ความคิดในเชิงปรัชญากฎหมาย
รัฎฐาธิปัตย์ คือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ แต่ต้องเป็นอำนาจด้วยความเป็นธรรม มิฉะนั้นอาจจะถูกล้มล้างได้
2. ความยุติธรรม ตามความหมายโดยทั่วไปนั้นหมายถึง ความถูกต้อง ชอบด้วยเหตุผล ความหมายของความยุติธรรมนั้นยากที่จะให้คำนิยาม เพราะขึ้นอยู่กับคตินิยม ปรัชญาของแต่ละคน
3. ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมาย ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย
4. กฎหมายเป็นเครื่องกำหนดระเบียบวินัยของสังคม ประชาชนทั้งหลายจึงต้องเคารพนับถือกฎหมาย ผู้บริหารประเทศย่อมไม่มีอำนาจตามอำเภอใจ ต้องเคารพกฎหมายเช่นกัน
3) ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาความคิดในทางกฎหมาย
ศาสนาเป็นปัจจัยที่ให้ก่อให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการเกิดและการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
2. จารีตประเพณี เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกกหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย
3. ความเห็นของนักกฎหมาย เป็นปัจจัยทำให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย
4. เหตุการณ์ในสังคม มีส่วนทำให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย
วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

1. กฎหมายนั้นได้วิวัฒนาการมาจากระเบียบ ความประพฤติ ศีลธรรม จารีตประเพณี ศาสนา แล้วกลายเป็นมีสภาพบังคับได้
2. ระบบกฎหมายไทยได้วิวัฒนาการมาเป็นขั้นตอนตามสภาพความเป็นเอกราชตลอดมา
3. ในการพัฒนาระบบกฎหมายไทยให้ถึงเป้าหมายนั้น ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ
2.1 วิวัฒนาการของระบบกฎหมายที่สำคัญของโลก
1. ในสมัยดั้งเดิมนั้นยังไม่มีภาษาเขียน จึงต้องใช้คำสั่งของหัวหน้า ประเพณี ศีลธรรม ศาสนา และความเป็นธรรมตามความรู้สึกของมนุษย์ ให้มีสภาพบังคับตามนามธรรมเป็นกฎหมายได้
2. เมื่อมนุษย์รู้จักภาษาเขียน ก็ได้เขียนบันทึกสิ่งที่บังคับตามนามธรรมขึ้นใช้ และต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นให้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือประมวลกฎหมาย
3. ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ยังคงยึดจารีตประเพณีที่ปฏิบัติมาเป็นหลักกฎหมายและอาศัยคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาวางหลักใช้เป็นกฎหมายในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์
4. กฎหมายในระบบอื่น เช่น กฎหมายสังคมนิยม กฎหมายอิสลาม ย่อมจัดอยู่ในระบบประมวลกฎหมาย
5. เมื่อหลักกฎหมายของประเทศต่างๆ คล้ายคลึงกัน ย่อมใช้กฎหมายฉบับเดียวกันได้ นักกฎหมายก็สามารถใช้กฎหมายฉบับเดียวกันได้ทั่วโลก กลายเป็นหลักสากลขึ้น
2.2 วิวัฒนาการของระบบกฎหมายไทย
1. ระบบกฎหมายไทยก่อนที่ยังไม่มีภาษาเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย และสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น
2. ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดทำกฎหมาย ในรูปของประมวลกฎหมายไทยสำเร็จ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง
3. ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยได้มีกฎหมายในรูปของประมวลกฎหมายครบถ้วน
2.3 ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบกฎหมายไทย
1. ปัจจุบันการศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้กระจายอยู่ในหลายสถาบัน ทำให้เกิดแนวความคิดการใช้กฎหมายแตกต่างกัน เป็นภัยต่อแนวความคิดทางกฎหมายของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
2. การฝึกอาชีพทางกฎหมายมีแยกจากกัน แล้วแต่หน่วยงานในอาชีพนั้นไม่อาจจะพัฒนาความคิดทางกฎหมายไปในแนวทางเดียวกัน
3. การร่างกฎหมายในปัจจุบันไม่เป็นไปตามระบบของการร่างกฎหมายที่ถูกต้อง จึงทำให้ขัดต่อหลักการและกฎหมายอื่น
4. ประเทศไทยไม่มีระบบติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีกฎหมายบางฉบับไม่มีประชาชนปฏิบัติตาม

1. ที่มาของกฎหมาย ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายสังคมนิยมนั้น ย่อมแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของระบบกฎหมายแต่ละระบบ
2. การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งออกได้เป็นหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
3. กฎหมายที่ออกมาใช้ในสังคมนั้น เกิดจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมายต่างกัน จึงมีลำดับความสำคัญไม่เท่าเทียมกัน
4. กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือมีศักดิ์เท่ากันกับกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ย่อมแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายฉบับหลังนั้นได้
ที่มาของกฎหมาย
ที่มาของกฎหมายย่อมมีความหมายแตกต่างกันไปตามระบบกฎหมาย
2. ที่มาของกฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษรนั้น ได้แก่ กฎหมายลายลักษณ์อักษร จารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป
3. ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารีตประเพณี คำพิพากษาของศาล กฎหมายลายลักษณ์อักษร ความเห็นของนักนิติศาสตร์ และหลักความยุติธรรม
4. ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายสังคมนิยม คือ กฎหมายลายลักษณ์อักษร
ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
1) รัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517
2) ประมวลกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลรัษฎากร
3) พระราชบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติส่งเสริมพาณิชย์นาวี
4) พระราชกฤษฎีกา เช่น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตควบคุมศุลกากร เป็นต้น
จารีตประเพณีที่กลายมาเป็นกฎหมาย
ตัวอย่างของจารีตประเพณีที่กลายมาเป็นกฎหมาย คือ การที่บุตรต้องอุปการะเลี่ยงดูบิดามารดาซึ่งได้นำไปบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 1563
การให้สินสอดที่ฝ่ายชายให้แก่ฝ่ายหญิงนั้นเป็นจารีตประเพณีหรือไม่ และฝ่ายหญิงจะเรียกร้องจากฝ่ายชายได้เสมอไปหรือไม่
การให้สินสอดเป็นจารีตประเพณี เพราะเข้าตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประการ แต่ก็มิใช่เป็นเรื่องที่ฝ่ายหญิงจะบังคับเอากับฝ่ายชายได้ เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายต้องสมัครใจให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1437)
ที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
จารีตประเพณีมีความสัมพันธ์ต่อระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างไร
จารีตประเพณีเป็นต้นตอของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อสมัยเริ่มแรกของระบบกฎหมายนี้ ศาลใช้จารีตประเพณีเป็นกฎหมายในการตัดสินคดีจารีตประเพณีจึงเป็นที่มาพื้นฐาน ของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
เหตุผลสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า“กฎหมายที่มาจากคำพิพากษาของศาลเป็นหลักเกณฑ์ที่มั่นคง เช่นเดียว กับหลักที่เกิดจากจารีตประเพณี”
คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลักเกณฑ์ที่มั่นคง เนื่องจากศาลในระบบกฎหมายนี้ยึดถือหลักแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาของศาล จึงทำให้คดีที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญอย่างเดียวกันได้รับการตัดสิน ให้มีผลอย่างเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปหลักเกณฑ์ที่ศาลวางไว้ในการตัดสินคดีย่อมได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นหลักกฎหมายที่มั่นคงในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันกฎหมายลายลักษณ์อักษรกลับมีบทบาทสำคัญต่อระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่ากฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นความจริงเพียงใด
ในสมัยที่โลกมีความเจริญก้าวหน้า การที่จะรอให้กฎหมายเกิดขึ้นจากจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลในคดีที่ขึ้นสู่ศาลนั้นย่อมจะไม่ทันต่อความต้องการ จึงต้องออกกฎหมายล่วงหน้าเพื่อวางระเบียบและกฎเกณฑ์ในสังคม หากจะรอให้กฎหมายเกิดขึ้นเองจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ศาลไทยยอมรับนับถือคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนเพียงใดหรือไม่
ศาลไทยอยู่ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร จึงไม่ถือว่าคำพิพากษาเป็นกฎหมายที่ศาลทำขึ้น ศาลคงยึดตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญในการตัดสินคดี แต่ก็คำนึงถึงผลและเหตุผลของคำพิพากษาในคดีก่อนอยู่บ้าง โดยเฉพาะคดีที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ศาลสูงเคยตัดสินไว้แล้ว แต่หากศาลล่าง (ที่อยู่ในชั้นต่ำกว่า) มีเหตุุผลเป็นอย่างอื่น ก็อาจตัดสินให้เป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ โดยไม่ต้อคำนึงถึงคำพิพากษาในคดีก่อนๆนั้น
ความเห็นของนักนิติศาสตร์นั้นจะได้รับการยอมรับจากศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีเพียงใด
แม้ว่าความเห็นของนักนิติศาสตร์จะไม่เป็นที่มาของกฎหมายในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ความเห็น ของนักนิติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการกฎหมายโดยทั่วไป ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจคดีต่อมา
ประเภทของกฎหมาย
1. กฎหมายนั้นอาจแบ่งได้อย่างคร่าวๆ เป็น 2 ประเภทคือ กฎหมายภายในและกฎหมายภายนอก
2. กฎหมายภายในอาจแบ่งได้เป็น
1) กฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
2) กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา และกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง
3) กฎหมายสารบัญญัติ และกฎหมายวิธีสบัญญัติ
4) กฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน
3. กฎหมายภายนอกอาจแบ่งออกได้เป็น
1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
2) กฎหมายระว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
การแบ่งกฎหมายภายในแบบใดที่ควรได้รับการยอมรับมากที่สุด เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
การแบ่งกฎหมายภายในเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมาเอกชน น่าจะได้รับการยอมรับมากที่สุดเพราะมีผลในการพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ในการใช้และการตีความกฎหมาย เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมแต่คดีตามลักษณะกฎหมาย
ประเภทของกฎหมายภายใน
Unwritten Law คือ อะไร
Unwritten Law คือกฎหมายที่ยังมิได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
การแบ่งกฎหมายตามสภาพบังคับนั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
การแบ่งกฎหมายตามสภาพบังคับมีประโยชน์ในการพิจารณาคดีแยกคดีเพื่อฟ้องศาลได้ถูกต้องเช่น คดีแพ่งจะฟ้องศาลใดที่กฎหมายกำหนดได้บ้าง หรือคดีอาญาจะฟ้องศาลใดได้บ้าง
ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติจะเกิดผลประการใดบ้างต่อระบบกฎหมายของไทยในปัจจุบัน
ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติก็ไม่อาจดำเนินคดีในศาลต่างๆ ได้
การแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนนั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
การแบ่งกฎหมายเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนนั้น ประเทศไทยยังไม่อาจมองเห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจน เพราะประเทศไทยยังไม่ได้แยกคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนให้ขึ้นศาลปกครอง ในปัจจุบันคดีส่วนใหญ่ขึ้นศาลยุติธรรม ยกเว้นบางคดีที่จัดตั้งศาลพิเศษไว้พิจารณาพิพากษาคดีโดยเฉพาะ
ประเภทของกฎหมายภายนอก
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมีความสำคัญและมีบทบาทต่อสังคมประชาชาติเพียงใด
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมีความสำคัญมาก เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ที่ให้รัฐต่างๆ ได้ปฏิบัติตามเพื่อความสงบสุขของสังคมประชาชาติแต่ในปัจจุบัน กฎหมายนี้ขาดความศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่มีองค์กรใดที่จะก่อให้เกิดสภาพบังคับ จึงกลายเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นเสมอมา
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีบทบาทต่อสังคมปัจจุบันเพียงใด
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีบทบาทสำคัญต่อสังคมยุคปัจจุบันที่ประชาชนในแต่ละรัฐมีโอกาสติดต่อกัน หรือความสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรัฐย่อมมีปัญหาที่จะใช้กฎหมายของรัฐใดบังคับ จึงต้องมีกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลขึ้น เพื่อแก้ปัญหาว่าจะใช้กฎหมายใดบังคับแก่ความสัมพันธ์เหล่านั้น
การจี้เครื่องบินจากประเทศอื่นแล้วมาร่อนลงในประเทศไทย แล้วบังคับเครื่องบินให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ประเทศไทยจะมีสิทธิเรียกให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาหรือไม่
การจี้เครื่องบินเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามอาญากฎหมายไทย หากผู้ร้ายที่กระทำผิดบังคับเครื่องบินไปประเทศที่สาม และประเทศที่สามมีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ก็อาจจะมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ความผิดนี้โดยปกติย่อมเป็นความผิดอาญาสากลซึ่งประเทศที่สามก็ย่อมจะลงโทษได้อยู่แล้ว เพราะเป็นความผิดที่กระทำอยู่ต่อเนื่องในอาณาเขตของประเทศนั้นด้วย
ศักดิ์ของกฎหมาย
1. กฎหมายที่ออกมาใช้ในสังคมย่อมเกิดจากองค์กรต่างกัน จึงมีลำดับความสำคัญไม่เท่าเทียมกัน
2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สูงที่สุด จะมีกฎหมายอื่นมาขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
3. กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา หรือรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ตราขึ้นได้ในกรณีพิเศษ ตามความจำเป็นและตามเงื่อนไขที่กำหนด ย่อมมีศักดิ์สูงรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ
4. กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร โดยอาศัยอำนาจกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ย่อมเป็นกฎหมายลำดับรองลงมาจากกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา
5. กฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง โดยอาศัยอำนาจกฎหมายอื่น ย่อมมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือฝ่ายบริหาร
6. การจัดลำดับของกฎหมายตามศักดิ์ ก็เพื่อให้ทราบว่ากฎหมายฉบับใดมีความสำคัญมากกว่ากัน และสามารถยกเลิกกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากันหรือต่ำกว่าได้ แต่ไม่สามารถยกเลิกกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าได้
การจัดลำดับความสำคัญของกฎหมาย
เหตุใดจึงต้องมีการจัดลำดับกฎหมายตามศักดิ์
การจัดลำดับของกฎหมายนั้นย่อมขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายนั้นออกโดยองค์กรใด และองค์กรนั้นมีความสำคัญเพียงใด เมื่อออกกฎหมายมาแล้ว กฎหมายที่ออกมาโดยองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมายที่สูงกว่าย่อมมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่ออกโดยองค์กรที่ต่ำกว่า ย่อมไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนกฎหมายที่ออกโดยองค์กรที่สูงกว่าซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าได้
ประโยชน์ของการจัดลำดับของกฎหมายตามศักดิ์
หาตัวอย่างการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายระดับเดียวกันมาอย่างน้อย 1 ตัวอย่าง
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นบริษัทโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2521)
หาตัวอย่างการยกเลิกกฎหมายระดับเดียวกันมาอย่างน้อย 1 ตัวอย่าง
พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5

กฎหมายกับประวัติศาสตร์
1. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นประวัติศาสตร์ในสังคมหนึ่งนั้น ย่อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกฎหมายที่จะร่างขึ้นมาใช้ในอนาคต
2. การศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะนำมายกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ย่อมจะทำให้เกิดความชัดเจนในการยกร่างกฎหมาย หรือปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีของสังคมยิ่งขึ้น และทำให้สังคมได้รับประโยชน์จากกฎหมายมากยิ่งขึ้น
กฎหมายกับรัฐศาสตร์
1. กฎหมายกับรัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด รัฐศาสตร์จัดระบบกลไกการปกครองโดยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งก่อให้เกิดกฎหมายขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชน และในขณะเดียวกัน กฎหมายก็เป็นเครื่องมือให้แก่การปกครองและการบริหารประเทศ
2. กฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการปกครองนั้น ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และกฎหมายรองลงมา คือ กฎหมายปกครอง และกฎหมายมหาชนอื่นๆ ที่จะช่วยให้การบริหารแผ่นดินบรรลุผลตามเป้าหมาย อันจะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความอยู่ดีกินดี และความเป็นธรรมในสังคมไทย
กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์
1. เศรษฐศาสตร์กับกฎหมายต่างเป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกัน เศรษฐศาสตร์ต้องอาศัยออกกฎหมายในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม และกฎหมายก็ต้องอาศัยหลักการในเศรษฐศาสตร์มาประกอบการยกร่างกฎหมาย
2. กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำหนดทิศทางในด้านเศรษฐกิจของประเทศ และใช้เป็นกลไกควบคุม ดูแลระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนที่ไม่ถูกเอรัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
กฎหมายกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นศาสตร์ที่มนุษย์ได้ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนา เพื่ออธิบายความเป็นไปของธรรมชาติและปากฎการณ์ต่างๆ และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่มนุษย์จึงต้องมีกรอบการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมแก่สภาพสังคม โดยอาศัยกฎหมายเป็นตัวกำหนดกรอบเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม
2. เมื่อมีเหตุการณ์เรื่องใดที่เกิดผลกระทบต่อสังคม ก็ควรจะต้องนำกฎหมายมาช่วยควบคุม กำกับดูแล เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อันจะช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
1. สิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะมีหลักประกันให้มั่นคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ
2. กฎหมายกับสังคมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การที่จะควบคุมสังคมได้ย่อมอาศัยกฎหมายเข้ามาช่วย
3. ในกรณีที่สังคมจะพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมต้องอาศัยกฎหมาย สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมั่นคง
4. กฎหมายมีความจำเป็นต้องตราออกมาควบคู่กับสังคมยุควิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกที่ควร
กฎหมายกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพ
1. มนุษย์ต้องมีสิทธิต่างๆ อย่างที่มนุษย์มีกัน และจะต้องมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ถูกกีดกัน การจำกัดสิทธิจะมีได้แต่กฎหมายเท่านั้น
2. ประเทศไทยได้กำหนดหลักประกันสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
3. การใช้สิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมจะต้องมีกฎหมายควบคุมเสมอ
สิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนหมายถึงอะไร
สิทธิมนุษยชนหมายถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาก็มีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด
หลักประกันสิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญได้กำหนดขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้เพียงใด
รัฐธรรมนูญได้กำหนดขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้
กฎหมายกับสังคม
กฎหมายกับสังคมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคม ซึ่งกฎหมายจะต้องเกิดขึ้นเสมอพร้อมกันไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางชั่วร้าย กฎหมายจะต้องเข้าไปควบคุมสังคมนั้นให้ดี เมื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ทันต่อเหตุการณ์นั้น กฎหมายจึงได้ออกมาตามการเปลี่ยนแปลงในทางสังคม ลักษณะของกฎหมายจึงต้องบัญญัติโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคตจึงจะถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี
กฎหมายกับการควบคุมสังคม
1. กฎหมายมีความสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายสามารถควบคุมสังคมให้ตกอยู่ในความสงบเรียบร้อยได้
2. ความเป็นธรรมในสังคมจะมีได้ต้องอาศัยความถูกต้องของกฎหมายเท่านั้น
3. ปัญหาทุกปัญหาทางสังคมสามารถแก้ไขให้ยุติได้ด้วยกฎหมาย
กฎหมายกับความสงบเรียบร้อยของสังคม
กฎหมายเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างไร
ในแต่ละสังคมย่อมจะต้องมีกฎระเบียบ วินัย ทั้งนี้เพื่อให้สังคมนั้นมีความสงบเรียบร้อยได้ กฎ ระเบียบ วินัย เช่นว่านี้จะต้องมีสภาพบังคับในสังคมนั้นได้ จึงจะทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กรณีที่จะให้มีสภาพบังคับได้จะต้องตราขึ้นเป็นกฎหมาย เมื่อได้ตรากฎหมายขึ้นมาแล้ว ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายนั้นย่อมเป็นผู้ก่อความไม่เรียบร้อยขึ้น ก็จะต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา ความสงบเรียบร้อยก็ย่อมจะมีขึ้นได้
กฎหมายกับความเป็นธรรมในสังคม
เมื่อความไม่เป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นจะแก้ไขด้วยกฎหมายอย่างไร เพราะอะไร
สังคมที่ขาดความเป็นธรรม การที่จะแก้ไขต้องออกกฎหมายมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งไม่เป็นธรรมนั้น เพราะกฎหมายมีสภาพบังคับ สามารถออกกฎหมายให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นเสีย ความเป็นธรรมในสังคมนั้นก็จะเกิดขึ้น
กฎหมายกับการแก้ปัญหาในสังคม
กฎหมายช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างไร
เมื่อสังคมนั้นเกิดความขัดแย้งยากที่จะประสานให้เกิดความสามัคคีกันได้วิธีการที่จะขจัดปัญหาในทางสังคมได้จะต้องอาศัยกฎหมายเป็นสำคัญเพราะหากมีกฎหมายบัญญัติในปัญหานั้นไว้อย่างไรแล้วก็ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น ปัญหาข้อขัดแย้งก็เป็นอันยุติได้ หากมีปัญหาขึ้นแต่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ก็สามารถตรากฎหมายเพื่อขจัดปัญหานั้นให้เสร็จสิ้นไปโดยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายจึงมีความสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในสังคมได้
กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม
1. การพัฒนาการเมือง จะต้องตราบทกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้นักการเมืองได้มีการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมนั้นอย่างมีสภาพบังคับได้
2. การที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบเสรีได้ต้องอาศัยการออกกฎหมายมาบังคับเป็นสำคัญ
3. การออกกฎหมายเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาคนและจิตใจของคนด้วย
กฎหมายกับการพัฒนาการเมือง
รัฐจะต้องพัฒนาทางการเมืองอย่างไร
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดว่า รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 40)
กฎหมายกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
กฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีอย่างไร
ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่บรรลุเป้าหมายได้ ต้องอาศัยและเกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น เพราะหากไม่มีกฎหมายบังคับ การพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่อาจจะกระทำได้สำเร็จ และหากกฎหมายใดที่มีอยู่เป็นการขัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรี ก็ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนั้นเสีย หรืออาจจะมีการแก้ไขกฎหมายนั้นให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีก็ได้
กฎหมายกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม
การพัฒนาคนต้องอาศัยกฎหมายให้มีการพัฒนาทางด้านใด จึงจะทำให้สังคมมีความสงบสุข
การพัฒนาคนควรจะต้องมีกฎหมายให้มีการพัฒนาทางด้านจิตใจ เพราะตามหลักในการดำเนินชีวิตและการดำรงประเทศ จะต้องอาศัยจิตใจของคนเป็นสำคัญ โดยจะต้องพัฒนาทางจิตใจของคนในสังคมให้มีธรรมะหรือให้มีคุณธรรม ทำแต่ความดี เพื่อให้จิตใจมีความสงบ ก็จะทำให้สังคมมีความราบรื่น มีความสงบสุข
กฎหมายกับสังคมยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1. การที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้ไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อให้มีสภาพบังคับได้
2. การทำธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์จะให้มีผลบังคับกันได้ จะต้องมีกฎหมายรับรอง
3. การวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จได้ ต้องอาศัยกฎหมายเป็นสำคัญ
4. การที่จะไม่ให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ต้องตราเป็นกฎหมายบังคับ จึงจะมีโอกาสสัมฤทธิ์ผลได้
กฎหมายกับงานด้านวิทยาศาสตร์
ขณะนี้มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์
ในขณะนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ 2 ฉบับ คือ
1) พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534
2) พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540
กฎหมายกับคอมพิวเตอร์
ในปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับงานด้านคอมพิวเตอร์อย่างไร
มีกฎหมายอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
1) กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
2) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ซึ่งได้แก่ พระราชบํญัติการประกอบธุรกิจข้อมูงเครดิต พ.ศ. 2545
กฎหมายกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ในกรณีที่จะพัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จต่อไปนั้น ควรจะต้องทำอย่างไร
หากมีการพัฒนาให้มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้สำเร็จต่อไปนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข กฎหมายให้มีผลรองรับความก้าวหน้าในการพัฒนานั้น
กฎหมายกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต
สิ่งแวดล้อมที่ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะอาศัยกฎหมายได้อย่างไร
สิ่งแวดล้อมที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงในอนาคตซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าควบคุม จำเป็นที่รัฐจะต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ ทำการควบคุมและห้ามกระทำหรือให้กระทำเพื่อไม่ให้สังคมต้องกระทบ กระเทือนต่อไปอีก

1. การบัญญัติกฎหมายตองทำตามวิธีการ เป็นขั้นตอน คือ จัดทำร่างกฎหมาย เสนอร่างกฎหมายต่อผู้มีอำนาจพิจารณา พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อรับหลักการและแก้ไข ปรับปรุงให้เหมาะสม นำกฎหมายที่พิจารณาเห็นชอบแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย
2. การบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักบางประการได้แก่ ความถูกต้อง ความแน่นอน ความสมบูรณ์ ความศักดิ์สิทธิ์ และสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งความนิยมด้วย
6.1 วิธีการบัญญัติกฎหมาย
ผู้มีสิทธิเสนอให้บัญญัติกฎหมาย คือผู้ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้
2. การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับต้องเสนอร่างกฎหมายได้แก่รัฐสภา การพิจารณาร่างพระราช บัญญัติต้องดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และข้อบังคบการประชุมวุฒิสภา
3. การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่จะมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
6.1.1 การเสนอให้บัญญัติกฎหมาย
เป็นเป็นผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา ให้บอกมาให้ครบ
ผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา คือ
1) คณะรัฐมนตรี
2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือเกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
6.1.2 การพิจารณาร่างกฎหมาย
(1) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำกี่วาระ แต่ละวาระให้ลงมติอย่างไร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำ 3 วาระ คือ วาระที่หนึ่ง ให้ลงมติว่ารับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินั้น วาระที่สอง พิจารณาโดยคณะกรรมการที่สภาตั้งขึ้นหรือกรรมาธิการเต็มสภา แล้วรายงานให้สภาพิจารณาลงมติว่าจะแก้ไขอย่างไร หรือไม่ วาระที่สาม ให้ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น
(2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ต้องยับยั้งเพราะวุฒิสภาไม่เห็นชอบ สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อใด
ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ต้องยับยั้งเพราะวุฒิสภาไม่เห็นชอบ สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ดังนี้
1) ร่างพระชาบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงิน อาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที่
2) ร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน อาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร หรือวันที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา แล้วแต่กรณี
6.1.3 การบัญญัติเป็นกฎหมายใช้บังคับ
(1) พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดขึ้นใช้บังคับได้ในกรณีใด
พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดขึ้นใช้บังคับได้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เฉพาะเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
(2) ร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายในกรณีใด หรือไม่
ร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ เมื่อรัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(3) พระราชกำหนดที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ จะมีผลใช้บังคับได้ในกรณีใดหรือไม่
พระราชกำหนดที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไปได้เมื่อสภาผู้แทนยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
6.2 หลักในการบัญญัติกฎหมาย
1. การบัญญัติกฎหมายจ้องคำนึงถึงความถูกต้อง คือ ถูกวิธีการ ถูกแบบ ถูกเนื้อหา ถูกหลักภาษาและต้องเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในสังคมด้วย
2. การบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงความแน่นอนในถ้อยคำและข้อความ โดยให้มีความชัดเจนและรัดกุม
3. การบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์คือให้ได้สาระครบถ้วนครอบคลุมไม่ขาดตกบกพร่อง สอดคล้องไม่ขัดกัน และเชื่อมโยงไม่ขาดตอน
4. การบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์ คือกฎหมายที่เป็นคำบงการ (Command) ให้ใครทำอะไร ต้องให้มีสภาพบังคับ (Sanction) และต้องให้สัมฤทธิ์ผล คือให้ได้ผลบรรลุจุดประสงค์ในการตรากฎหมายฉบับนั้น
5. การบัญญัติกฎหมายต้องคำนึงถึงความนิยมเกี่ยวกับลีลา ถ้อยคำ และการใช้ตัวเลขแทนตัวหนังสือ
6.2.1 การบัญญัติกฎหมายให้ถูกต้อง
ให้บอกข้อบกพร่องของข้อความในร่างกฎหมายดังต่อไปนี้ และแก้ไขให้ถูกหลักภาษา
(1) “กรรมการร่างกฎหมายให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานดีเด่นถูกยอมรับโดยวงการกฎหมาย”
ข้อบกพร่องคือการใช้คำว่า “ถูก” ประกอบคำกริยาในประโยคกรรมวาจกที่ไม่มีความหมายในทางไม่ดีนั้น ไม่เป็นที่นิยมในภาษากฎหมาย ในกรณีนี้ต้องใช้คำว่า “เป็นที่” แทนคำว่า “ถูก”
(2) “คำขอนั้น ต้องระบุชื่อ อายุ และประวัติของผู้ขอ และเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ”
ข้อบกพร่องคือ ข้อความดังกล่าวมีคำว่า “ระบุ” เป็นคำกริยาร่วมของ 2 ประโยค เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วจะได้ความว่า “ต้องระบุชื่อ อายุ และประวัติของผู้ขอ” ประโยคหนึ่ง และ “ต้องระบุเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ” อีกประโยคหนึ่ง ซึ่งประโยคหลังนี้ผิดไปจากความมุ่งหมายที่จะให้ “ส่ง” หรือ “แนบ” เอกสารหลักฐานไม่ใช่เพียง “ระบุ” เหมือนอย่างระบุพยานในการต่อสู้คดีในศาล ควรแก้ให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็น “ให้ผู้ขอระบุชื่อ อายุ และประวัติของตนเองลงในคำขอ และส่ง (แนบ) เอกสารหลักฐานประกอบคำขอด้วย”
(3) “ผู้ผลิตสารระเหยต้องจัดให้มี “เครื่องหมาย” ที่ภาชนะบรรจุสารระเหยเพื่อเป็นคำเตือน หรือข้อควรระวังใช้สารระเหยนั้น”
ข้อบกพร่องคือ ใช้คำว่า “เครื่องหมาย” เป็นคำหลักและใช้คำว่า “คำเตือน” กับ “ข้อควรระวัง” เป็นคำขยาย ซึ่งไม่สอดคล้องกันเพราะ “เครื่องหมาย” ไม่ได้เป็น “คำ” หรือ “ข้อ” จึงไม่ถูกหลักภาษา ถ้าจะให้ถูกต้องเปลี่ยนคำว่า “เครื่องหมาย” เป็น “ข้อความ” จึงจะสอดคล้องกัน เพราะ “ข้อความ” เป็น “คำ” ก็ได้ เป็น “ข้อ” ก็ได้
6.2.2 การบัญญัติกฎหมายให้แน่นอน
ให้บอกข้อบกพร่องของข้อความในร่างกฎหมายดังต่อไปนี้ และแก้ให้ชัดเจนและรัดกุม
(1) “ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มาใช้บังคับแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครโดยอนุโลม”
ข้อบกพร่องคือ ใช้คำว่า “พระราชบัญญัติระเบียบข้อราชการพลเรือน” ซึ่งเป็นคำเฉพาะ โดยไม่ระบุ พ.ศ. ที่ตราพระราชบัญญัติฉบับนั้นไม่ถูกต้องเพราะไม่ชัดเจนว่าเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับไหน เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนมีการแก้ไขหลายฉบับ ต้องแกคำว่า “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน” เป็น “กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน” ซึ่งเป็นคำสามัญที่หมายถึงฉบับที่ใช้อยู่รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้อยู่ด้วย
(2) “เทศบาลมีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่สำหรับการเล่นกีฬาและพลศึกษา”
ข้อบกพร่องคือ คำว่า “พลศึกษา” ซึ่งหมายถึง “การสอนวิชาพละ” มาเขียน ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องจัดให้มีและบำรุงรักษารวมกับสถานที่สำหรับการเล่นกีฬา จึงไม่ชัดเจนและไม่ตรงกับความมุ่งหมายที่จะให้เทศบาลจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่สำหรับออกกำลังกาย จึงต้องแก้เป็น “เทศบาลมีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่สำหรับการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย (หรือการบริหารร่างกาย)”
(3) “ถ้าพยานหลักฐานยืนยันสอดคล้องกัน น่าเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก”
ข้อบกพร่องคือ ไม่รัดกุม เพราะคำว่า “น่าเชื่อ” ยังอยู่ในลักษณะมีมลทินหรือมัวหมอง ยังฟังไม่ได้ว่า กระทำผิดที่จะถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออก ถ้ามีพยานหลักฐานยืนยันแน่นอนก็ต้อง เชื่อได้” ไม่ใช่ “น่าเชื่อ” จึงต้องแก้เป็น “ถ้ามีพยานหลักฐานยืนยันสอดคล้องกัน ฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก”
6.2.3 การบัญญัติกฎหมายให้สมบูรณ์
ในการร่างเป็นพระราชบัญญัติ หากมีรายละเอียดเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินั้น โดยเหมาะสมกับเวลาหรือสถานที่ซึ่งยังไม่อาจกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินั้นได้ ควรร่างอย่างไรจึงจะสมบูรณ์
ควรร่างออกให้เป็นกฎหมายลูกอีกชั้นหนึ่ง เช่น ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้ออกเป็นกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ หรือให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินั้น หรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินั้นกำหนดรายละเอียดก็ได้
6.2.4 การบัญญัติกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และสัมฤทธิ์ผล
มาตรการบังคับ (Sanction) ที่จะเขียนในกฎหมายเพื่อดำเนินการในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นมีอะไรบ้าง ยกมา 3 ประการ
มาตรการบังคับ (Sanction) ที่จะเขียนในกฎหมายมีหลายประการ เช่น
1) มาตรการทางแพ่ง เช่น ไม่รับรู้ผลในกฎหมาย คือ ให้การกระทำนั้นเป็นโมฆะ
2) มาตรการตามกฎหมายปกครอง เช่น พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต
3) มาตรการทางอาญา ให้ได้รับโทษทางอาญา เช่น ประหารชีวิต จำคุก ปรับ
6.2.5 การบัญญัติกฎหมายให้ต้องตามความนิยม
ในการร่างพระราชบัญญัติ หากมีคำที่เกี่ยวกับจำนวนนับ หรือลำดับ ควรใช้ตัวเลขหรือตัวหนังสือ
บางกรณีนิยมใช้ตัวเลข บางกรณีนิยมใช้ตัวหนังสือ คือ
กรณีที่ใช้ตัวเลข
(1) วันที่ พ.ศ. เช่น “ให้ไว้ ณ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2518”
(2) จำนวนนับที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระในกฎหมาย เช่น “เป็นปีที่ 30 ในรัชกาลปัจจุบัน”
(3) หมวด ส่วน มาตรา และอนุมาตราของกฎหมาย เช่น “หมวด 1” “ส่วนที่ 1” “มาตรา 6 (1)”
(4) หมายเลขเอกสารแนบท้ายกฎหมาย เช่น “บัญชีหมายเลข 3”
(5) ลำดับชั้นหรือขั้น เช่น “ตำแหน่งระดับ 10 รับเงินเดือนในอันดับ 10 ซึ่งมี 31 ขั้น”
(6) อันดับขั้นเงินเดือน เช่น “อันดับ 11 ขั้น 42,120 บาท”
(7) อัตราค่าธรรมเนียมในบัญชีท้ายกฎหมาย เช่น “ค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต 100 บาท”
กรณีที่ใช้ตัวหนังสือ
(1) จำนวนนับที่เป็นเนื้อหาสาระในกฎหมาย เช่น “ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ห้านับแต่ปีที่ออกใบอนุญาต”
(2) วรรคของมาตรา เช่น “คู่ความตามวรรคหนึ่ง” “พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง”
(3) อายุของบุคคล เช่น “มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี”
(4) ระยะเวลาเป็นชั่วโมง วัน เดือน ปี เช่น “ให้อุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับจากวันทราบคำสั่ง”
(5) โทษทางอาญา เช่น “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
1. กฎหมายซึ่งบัญญัติขึ้นนั้น เมื่อจะนำมาบังคับใช้มีหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ เวลา สถานที่ และบุคคลที่ใช้บังคับ
2. ในการบังคับใช้กฎหมายให้ได้มีประสิทธิผลนั้น รัฐเองมีหน้าที่จะต้องเตรียมการให้พร้อมในด้านสถานที่ บุคลากร และประชาสัมพันธ์
3. การยกเลิกกฎหมาย คือการที่กฎหมายนั้นสิ้นสุดลง ไม่สามารถใช้บังคับได้อีกต่อไป การยกเลิกกฎหมายนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ การยกเลิกกฎหมายโดยตรง และการยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย
7.1 การบังคับใช้กฎหมาย
1. เวลาที่กฎหมายใช้บังคับนั้น ก็คือเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในตัวกฎหมายนั้นเองว่าจะให้กฎหมายนั้นใช้บังคับเมื่อใด อาจเป็นวันที่ประกาศใช้ หรือโดยกำหนดวันใช้ไว้แน่นอน หรือกำหนดให้ใช้เมื่อระยะเวลาหนึ่งล่วงพ้นไป
2. สถานที่ที่กฎหมายใช้บังคับ กฎหมายของประเทศไดก็ใช้บังคับได้ในอาณาเขตของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นการใช้หลักดินแดน
3. กฎหมายย่อมใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนที่อยู่ในอาณาเขตของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสัญญาตินั้นเองหรือบุคคลต่างด้าวก็ตาม
4. การบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผล ต้องมีการเตรียมการทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ บุคลากร สถานที่ และอุปกรณ์
7.1.1 เวลาที่กฎหมายใช้บังคับ
การบังคับใช้กฎหมายแบ่งได้เป็นกี่ประเภท
การบังคับใช้กฎหมายแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) เวลาที่ใช้บังคับ
2) สถานที่ที่กฎหมายใช้บังคับ
3) บุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ
อธิบายหลักทั่วไปของกำหนดเวลาที่กฎหมายใช้บังคับ
กำหนดเวลาที่กฎหมายใช้บังคับสามารถแบ่งได้เป็น 4 กรณี คือ
1) กรณีทั่วไป คือ โดยปกติกฎหมายมักจะกำหนดวันใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2) กรณีเร่งด่วน เป็นกรณีที่ต้องการใช้บังคับกฎหมายอย่างรีบด่วนให้ทันสถานการณ์ จึงกำหนด ให้ใช้ในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3) กำหนดเวลาให้ใช้เมื่อระยะเวลาหนึ่งล่วงไป เช่น เมื่อพ้นจากวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งนี้ เพื่อให้เวลาแก่ทางราชการที่เตรียมตัวให้พร้อมในการบังคับใช้กฎหมายนั้นและให้ประชาชนได้เตรียมศึกษาเพื่อปฏิบัติตามได้ถูกต้อง
4) กรณีพิเศษ กฎหมายอาจกำหนดให้พระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่พระราชบัญญัตินั้นจะใช้ได้จริง ในท้องที่ใด เวลาใด
7.1.2 สถานที่ที่กฎหมายใช้บังคับ
หลักดินแดนหมายความว่าอย่างไร
“หลักดินแดน” หมายความว่า กฎหมายของประเทศใดก็ให้ใช้บังคับกฎหมายของประเทศนั้นภายในอาณาเขตของประเทศนั้น
7.1.3 บุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ
บุคคลใดบ้างที่รัฐธรรมนูญยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกฎหมาย
บุคคลที่รัฐธรรมนูญยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกฎหมายได้แก่
1. พระมหากษัตริย์ เพราะเป็นที่เคารพสักการะ ใครจะล่วงละเมิดฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา
2. สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี กรรมาธิการ และบุคคลที่ประธานสภาฯ อนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในสภาตลอดจนบุคคลผู้พิมพ์รายงานการประชุมตามคำสั่งของสภาฯ เหตุที่กฎหมายให้เอกสิทธิ์ไม่ให้ผู้ใดฟ้องบุคคลดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสภา ก็เพื่อแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของสภานั้นเอง เว้นแต่การประชุมนั้นจะมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์
7.1.4 การเตรียมการบังคับใช้กฎหมาย
การเตรียมการบังคับใช้กฎหมายมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
การเตรียมการบังคับใช้กฎหมายแบ่งออกเป็น 3 กรณี
1. ด้านประชาสัมพันธ์ มีการเตรียมการ โดยผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้บุคคลต่างๆ ได้ทราบข้อมูล
2. ด้านเจ้าหน้าที่ ต้องมีการเตรียมการให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจ เพื่อจะบังคับใช้กฎหมายได้ถูกต้อง
3. ด้านสถานที่และอุปกรณ์ มีการเตรียมสถานที่เพื่อให้เพียงพอให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
7.2 การยกเลิกกฎหมาย
1. การยกเลิกกฎหมาย คือการทำให้กฎหมายที่เคยใช้บังคับอยู่นั้นสิ้นสุดลง โดยยกเลิกโดยตรง และยกเลิกโดยปริยาย
2. การยกเลิกกฎหมายโดยตรงนั้น แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
1) ตัวกฎหมายนั้นเอง กำหนดวันที่ยกเลิกกฎหมายนั้นไว้
2) ยกเลิกโดยมีกฎหมายใหม่ ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน กำหนดให้ยกเลิกไว้โดยตรง
3) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติ
3. การยกเลิกกฎหมายโดยปริยายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายใหม่บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยชัดแจ้ง แต่เป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่า เพราะกฎหมายใหม่ย่อมดีกว่ากฎหมายเก่า และหากประสงค์จะใช้กฎหมายเก่าอยู่ก็คงไม่บัญญัติกฎหมายในเรื่องเดียวกันขึ้นมาใหม่
7.2.1 การยกเลิกกฎหมายโดยตรง
อธิบายการยกเลิกกฎหมายโดยตรง
การยกเลิกกฎหมายโดยตรงแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ
1. ในกฎหมายนั้นเองกำหนดวันยกเลิกไว้เช่น ให้กฎหมายนี้สิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี
2. เมื่อมีกฎหมายใหม่มีลักษณะเช่นเดียวกัน ระบุยกเลิกไว้โดยตรง ซึ่งอาจจะยกเลิกทั้งฉบับหรือบางมาตราก็ได้
3. เมื่อพระราชกำหนดที่ประกาศใช้ถูกยกเลิก เมื่อพระราชกำหนดได้ประกาศใช้แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น มีผลทำให้พระราชกำหนดนั้นถูกยกเลิกไป
7.2.2 การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย
เมื่อยกเลิกพระราชบัญญัติแล้ว พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอำนาจของกฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกหรือไม่
เมื่อยกเลิกพระราชบัญญัติแล้ว พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอำนาจของกฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกไปในตัวด้วยเพราะพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิกไปแล้ว พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกมาเพื่อจะให้มีดำเนินการให้เป็นกฎหมายแม่บทก็จะถูกยกเลิกไปด้วย

1. ในระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law System) มีการแบ่งแยกประเภทกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
2. กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้ระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมของบุคคล
3. กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน
8.1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
1. การแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เป็นลักษณะเด่นของระบบกฎหมายแบบโรมาโน-เยอรมานิก
2. หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนมีหลายประการ เช่น เนื้อหา วัตถุประสงค์ นิติวิธี เป็นต้น
3. ประเทศไทยเริ่มมีการแบ่งแยกกฎหมายเอกชนออกจากกฎหมายมหาชนอย่างชัดเจน หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475
8.1.1 ความจำเป็นในการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
ในสมัยโรมันมีการแบ่งแยกประเภทออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนหรือไม่
ในสมัยโรมันมีการแบ่งแยกประเภทออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน แต่เป็นการแบ่งเพื่อจะไม่ต้องศึกษากฎหมายมหาขน
8.1.2 หลักเกณฑ์ในการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
การแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนใช้หลักเกณฑ์ใดบ้าง
เกณฑ์การแบ่งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนอาจใช้หลักเกณฑ์คือ
(1) เกณฑ์ที่เกี่ยวกับบุคคลผู้ก่อนิติสัมพันธ์
(2) เกณฑ์ที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนิติสัมพันธ์
(3) เกณฑ์ที่เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ในการก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน
(4) เกณฑ์ที่เกี่ยวกับเนื้อหา
8.1.3 พัฒนาการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมาย เอกชนและกฎหมายมหาชนอย่างชัดเจน ในสมัยใด
ประเทศไทยมีการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนอย่างชัดเจนในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
8.2 การแบ่งแยกสาขาย่อยในกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน
1. กฎหมายเอกชนประกอบด้วยกฎหมายสาขาย่อยที่สำคัญคือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2. กฎหมายมหาชนประกอบด้วยกฎหมายสาขาย่อยที่สำคัญคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายการคลังและภาษีอากร
3. การแบ่งสาขาย่อยของกฎหมายมหาชนในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ แนวคิดของนักวิชาการของประเทศนั้นๆ
8.2.1 การแบ่งสาขาย่อยในกฎหมายเอกชน
กฎหมายใดที่ถือว่าอยู่ในสาขาย่อยของกฎหมายเอกชน
กฎหมายที่ถือว่าอยู่ในสาขาย่อยของกฎหมายเอกชน คือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและธรรมนูญศาล กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
8.2.2 การแบ่งสาขาย่อยในกฎหมายมหาชน
กฎหมายใดที่ถือว่าอยู่ในสาขาย่อยของกฎหมายมหาชน
กฎหมายที่ถือว่าอยู่ในสาขาย่อยของกฎหมายมหาชน คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายการคลังและภาษีอากร กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

1. กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ เพราะเป็นกระบวนการวินิจฉัยข้อขัดแย้งของบุคคลในสังคมให้ได้รับความเป็นธรรม และก่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคม ทั้งยังเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรม
2. กระบวนการยุติธรรมปัจจุบันของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลายด้าน เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และสามารถอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย
3. เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้จึงจำเป็นต้องมีหลักประกันความเป็นธรรมและความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ
4.ในปัจจุบันยังมีองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่องค์กรตุลาการก็ได้
9.1กระบวนการยุติธรรมไทยในอดีต
1.กระบวนการยุติธรรมในสมัยสุโขทัยไม่มีระบบชัดเจนแน่นอน ราษฎรเมื่อมีข้อพิพาทก็อาจไปถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมจากพระเจ้าแผ่นดินได้ด้วยตัวเอง
2.กระบวนการยุติธรรมในสมัยอยุธยาเป็นระบบและชัดเจนกว่าสมัยสุโขทัย ซึ่งในสมัยอยุธยามีทั้งกฎหมายสารบัญญัติ และกฎหมายวิธีสบัญญัติใช้ โดยในการบัญญัติกฎหมายได้รับเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย
3.กฎหมายตราสามดวงซึ่งชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่รวบรวมมาจากกฎหมายสมันอยุธยา ซึ่งแยกออกเป็นลักษณะต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความในศาล ได้แก่ ลักษณะพระธรรมนูญ ลักษณะรับฟ้อง ลักษณะพยาน ลักษณะพิสูจน์ดำน้ำ ลุยเพลิง ลักษณะตระลาการ และลักษณะอุทธรณ์
4.ระบบการศาลไทยก่อนยุคปฏิรูปการศาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ศาลเป็นหน่วยงานที่ขึ้นอยู่กับกรมต่างๆ มีตระลาการทำหน้าที่พิจารณาคดีตามที่กรมที่ตนสังกัดอยู่ มอบหมายให้มีลูกขุน ณ ศาลหลวงทำหน้าที่พิพากษาคดี และมีผู้ทำหน้าที่ปรับบทความผิดและวางบทลงโทษผู้กระทำผิดให้เหมาะสมแก่ความผิด
5.ระบบการศาลไทยหลังการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลในสมันรัชกาลที่ 5 เป็นระบบศาลเดี่ยว โดยระบบศาลไม่ต้องสังกัดอยู่กับกรมต่างๆอีกต่อไป มีศาลยุติธรรมเป็นองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจตุลาการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยเฉพาะ
6.ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) และระบบศาลเป็นระบบศาลคู่ คือมีศาลที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในคดีเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะทำหน้าที่คู่เคียงไปกับศาลยุติธรรม และมีการจัดแบ่งโครงสร้างของศาลเป็นตามลำดับชั้นและประเภทของคดี
9.1.1 กระบวนการยุติธรรมสมัยสุโขทัย
อธิบายลักษณะของกระบวนการยุติธรรมในสมัยสุโขทัย
ระบบการยุติธรรมในสมัยกรุงสุโขทัย ไม่มีระบบที่ชัดเจน แต่เมื่อราษฎรมีข้อพิพาทกันก็สามารถไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูเพื่อให้พระมหากษัตริย์มาสอบสวนและตัดสินคดีความได้
9.1.2 กระบวนการยุติธรรมสมัยอยุธยา
อธิบายลักษณะของกระบวนการยุติธรรมในสมัยอยุธยา
กระบวนการยุติธรรมในสมัยอยุธยาเป็นระบบกว่าในสมัยสุโขทัย มีการจัดตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีต่างๆ ซึ่งกระจายอยู่ตามตัวกระทรวงต่างๆ
9.1.3 กระบวนการยุติธรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เพราะเหตุใดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้มีชำระกฎหมายขึ้นใหม่
กฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น เป็นกฎหมายที่ตกทอดสืบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เนื่องจากกฎหมายต่างๆ ถูกเผาทำลายไป กฎหมายที่เหลืออยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยไม่อาจอำนวยความยุติธรรมได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้โปรดให้มีการชำระกฎหมายขึ้นใหม่
9.1.4 กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน
อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบยุติธรรมไทย คือ มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบศาลเดี่ยวเป็นระบบศาลคู่ คือมีการจัดตั้งศาลหลายประเภท โดยแบ่งชนิดของตามประเภทของคดี
9.2 หลักการสำคัญของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในศาล
1. เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนจำเป็นจะต้องการกำหนดหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ผู้พิพากษา เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความได้
2. เพื่อให้ผู้พิพากษาได้ตัดสินคดีต่างๆ อย่างเที่ยงธรรมโดยมิต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ หรือให้ถูกแทรกแซงโดยอำนาจอื่น จำเป็นต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
3. แม้นฝ่ายตุลาการจะมีหลักประกันความเป็นธรรมและความเป็นอิสระ แต่กระบวนการยุติธรรมก็อาจถูกตรวจสอบได้และต้องมีความโปร่งใสด้วย
9.2.1 หลักประกันความยุติธรรมของผู้พิพากษาและตุลาการ
หลักประกันความเป็นธรรมของผู้พิพากษาและตุลาการซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดไว้ไว้ได้แก่หลักการใดบ้าง
หลักประกันความเป็นธรรมของผู้พิพากษาและตุลาการ ได้แก่
1) การพิจารณาคดีจะกระทำโดยองค์คณะและต้องครบองค์คณะ
2) มีการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง
9.2.2 หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ
มาตรการที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการจากองค์กรภายนอกได้แก่มาตรการใด
มาตรการที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการจากองค์กรภายนอก ได้แก่
1) มีหน่วยธรการเป็นอิสระ
2) แยกบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาและตุลาการออกจากฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร
9.2.3 หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย
หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในศาลมีประโยชน์ในกรณีใดบ้าง
หลักการพิจารณาโดยเปิดเผยมีประโยชน์ในด้านการควบคุม และตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาและตุลาการ ว่าดำเนินการไปโดยสุจริตและยุติธรรมหรือไม่
9.3 กระบวนการยุติธรรมอื่น
1. ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นหลายองค์กร ศาลมิใช่องค์กรเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่มนการวินิจฉัยข้อพิพาท
2. องค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยข้อพิพาทอาจเป็นหน่วยราชการหรือองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยราชการก็ได้ซึ่งเรียกว่า องค์กรกึ่งตุลาการ (Quasi Judicial)
9.3.1 องค์กรวินิจฉัยอิสระ
ยกตัวอย่างองค์กรวินิจฉัยอิสระที่ไม่ได้เป็นส่วนราชการ
องค์กรวินิจฉัยอิสระที่ไม่ได้เป็นส่วนราชการ เช่น
1.คณะกรรมการ ป.ป.ช.
2.คณะกรรมการเลือกตั้ง
9.3.2 องค์กรวินิจฉัยของหน่วยราชการ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องทุกข์แล้วมีผลประการใด
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ยังไม่มีผลบังคับแก่คู่กรณี ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีสั่งการอีกทีหนึ่ง

1.ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลชำนัญพิเศษที่จัดตั้งขึ้น มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ
2.ศาลยุติธรรม เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาที่เป็นการทั่วไป คือคดีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลอื่น
3.ศาลปกครอง เป็นศาลชำนัญพิเศษที่จัดตั้งขึ้น มีอำนาจที่พิจารณาคดีปกครอง
4.ศาลทหาร เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับวินัยทหารเป็นหลัก
10.1ศาลรัฐธรรมนูญ
1.ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลประเภทหนึ่งที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
2.ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มดำเนินการเองไม่ได้ ต้องมีผู้เสนอคำร้องให้พิจารณา ผู้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ศาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
3.ศาลรัฐธรรมนูญมีวิธีพิจารณาคดีที่กำหนดขึ้นมาเอง โดยความเห็นชอบเป็นเอกลักษณ์ของตุลาการรัฐธรรมนูญ
4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นขิงรัฐ
10.1.1 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ยกตัวอย่างคดีที่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 2 คดี
คดีที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น
1.กรณีวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชกำหนดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
2.วินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
10.1.2 สิทธิเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่มีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใครเป็นผู้มีสิทธิเสนอคำร้องให้ศาลยุติธรรมพิจารณา
มี 2 กรณีคือ
1.ศาลทุกศาล ทั้งในกรณีที่ศาลเห็นเองหรือมีคู่กรณีโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ
2.ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
10.1.3 การดำเนินกระบวนพิจารณา
วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะพิเศษอย่างไร
ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดวิธีพิจารณาคดีได้ด้วยตนเอง ซึ่งกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่วิธีพิจารณาคดีของศาลอื่นนั้นจะต้องตราเป็นกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
10.1.4 ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลอย่างไร
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรให้ปฏิบัติตาม
10.2 ศาลยุติธรรม
1.ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไป คดีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลอื่นจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
2.ผู้มีสิทธิเริ่มคดีได้ต้องเป็นบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิฟ้องคดีได้
3.การดำเนินการกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหา คือ ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ
4.คำพิพากษาของศาลย่อมมีผูกพันคู่กรณี และการบังคับคดีกระทำโดยศาลออกคำบังคับ
5.การดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการสร้างระบบควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดเป็นวิธีพิเศษขึ้น
10.2.1 ระบบศาลยุติธรรมและขอบเขตอำนาจหน้าที่
ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดีประเภทใดบ้าง
คดีทุกประเภทที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีภาษีอากร คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลาย คดีเด็กเยาวชนและครอบครัว
10.2.2 การเริ่มคดี
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีอาญามีใครบ้าง
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีอาญา ได้แก่
1)รัฐ
2)ผู้เสียหาย
10.2.3 การดำเนินกระบวนการพิจารณา
ในคดีอาญา การพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย โดยมีข้อยกเว้นในกรณีใดบ้าง
ในคดีอาญา การพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ยกเว้นกรณีต่อไปนี้
1.ในคดีมีอัตราจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน
2.ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจคำแถลงของโจทก์ว่าการพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
3.คดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
10.2.4 คำพิพากษาและการบังคับคดี
การบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำเลยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์จะต้องดำเนินการอย่างไร
ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยและไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำนวนคดีนั้นไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง จะบังคับคดีทันทีไม่ได้ หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงจะถือว่าคดีนั้นถึงที่สุด แต่ยังนำตัวจำเลยไปประหารไม่ได้ ต้องปฏิบัติในเรื่องของพระราชทานอภัยโทษก่อน
10.2.5 การดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
บุคคลใดที่อาจถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
บุคคลที่อาจถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แก่
1)ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก วุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่น บุคคลที่เป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
2)กรรมการ ป.ป.ช.
10.3 ศาลปกครอง
1.ศาลปกครองเป็นศาลชำนัญพิเศษมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้
2.ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือด ร้อนหรือเสียหายจากการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
3.การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลปกครองใช้หลักการดำเนินการ โดยใช้พยานเอกสารเป็นหลักและใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา
4.คำพิพากษาของศาลปกครองย่อมผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตาม
10.3.1 ขอบเขตของอำนาจหน้าที่
คำว่า “หน่วยงานปกครอง” ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหมายถึงหน่วยงานใด
คำว่า “หน่วยงานปกครอง” หมายถึง กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม “ราชการส่วนภูมิภาค” เช่น จังหวัด อำเภอ “ราชการส่วนท้องถิ่น” เช่น เทศบาล รัฐวิสาหกิจ “หน่วยราชการอื่นของรัฐ” ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจปกครองหรือได้ดำเนินกิจการทางปกครอง “องค์กรมหาชน” หน่วยงานเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจปกครอง
10.3.2 การฟ้องคดีปกครอง
ในกรณีฟ้องว่าพระราชกฤษฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องฟ้องต่อศาลใด
ต้องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด
10.3.3 การดำเนินการกระบวนพิจารณา
วิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองเป็นแบบใด
ศาลปกครองใช้วิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวนและใช้พยานเอกสารเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการนั่งพิจารณาอย่างน้อย 1 ครั้ง
10.3.4 การพิพากษาและการบังคับคดี
คำพิพากษาของศาลปกครองมีผลย้อนหลังได้ในกรณีใด
ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง หรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนในกรณีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
10.4 ศาลทหาร
1.ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอื่นในทางอาญาในคดีซึ่งผู้กระทำเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำผิด
2.ผู้ฟ้องคดีในศาลทหารมีได้เฉพาะอัยการทหารและผู้เสียหายเท่านั้น
3.กระบวนการพิจารณาในศาลทหารเป็นไปตาม พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
4.คำพิพากษาของศาลทหารยังไม่มีผลบังคับทันที เมื่อศาลทหารมีคำพิพากษาลงโทษแล้วจะต้องออกหมายแจ้งโทษให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่งลงโทษจำเลย
10.4.1 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลทหาร
ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีใด
ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอื่นในทางอาญาในคดีซึ่งผู้กระทำเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำความผิดและมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทหารด้วย
10.4.2 การฟ้องคดีในศาลอาหาร
บุคคลใดมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลทหาร
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในศาลทหาร ได้แก่
1) อัยการทหาร
2) ผู้เสียหาย ภายใต้เงื่อนไข คือ
- ผู้เสียหายเป็นบุคคลในอำนาจศาลทหาร
- ความผิดที่ฟ้องร้องเกิดในเวลาปกติ
10.4.3 กระบวนพิจารณาในศาลทหาร
องค์คณะของศาลทหารแตกต่างจากศาลพลเรือนหรือไม่ อย่างไร
องค์คณะของศาลทหารแตกต่างจากศาลพลเรือน โดยจะต้องมีนายทหารเป็นองค์คณะรวมกับตุลาการพระธรรมนูญด้วย
10.4.4 ผลของคำพิพากษา
การบังคับคดีของศาลทหารแตกต่างจากการบังคับคดีของศาลพลเรือนหรือไม่
การบังคับคดีของศาลทหารแตกต่างจากการบังคับคดีของศาลพลเรือน โดยเมื่อศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วจะไม่ออกหมายไปยังเรือนจำ แต่จะออกหมายแจ้งไปให้ผู้บังคับบัญชาทหารทราบและสั่งลงโทษจำเลย

1. กฎหมายเป็นสิ่งที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข และเพื่อเป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ดี กฎหมายบางฉบับอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายที่มีบทบัญญัติล้าสมัย หรือมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในสังคม
2. กฎหมายไม่สามารถบัญญัติขึ้นให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงทุกกรณีได้ จึงมีบทบัญญัติให้ดุลพินิจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น โดยอาจกำหนดแนวทางหรือกรอบในการใช้ดุลพินิจไว้หรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งมีกระบวนการแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
3. ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยกฎหมาย นอกจากกฎหมายจะตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อความเป็นธรรมแล้ว ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเมื่อพบว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ย่อมจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายนั้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อไปด้วย
11.1 บทบัญญัติของกฎหมายที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม
1. ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวความคิดของประชาชนในสังคมได้เปลี่ยน แปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการและและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสภาพสังคมยุคหนึ่งๆ ล้าสมัยไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน การยังคงใช้กฎหมายที่ล้าสมัย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องและสังคม
2. กฎหมายบางฉบับบัญญัติขึ้นบนพื้นฐานของสภาวการณ์ช่วงหนึ่งๆ ของสังคมต่อมาเมื่อสภาวการณ์นั้นๆ ได้สิ้นสุดลงหรือเปลี่ยนแปลงไป การยังคงใช้กฎหมายนั้นต่อไปจึงไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สังคมหรือกฎหมายนั้นไม่อาจนำมาใช้บังคับได้โดยปริยาย
11.1.1 บทบัญญัติที่ล้าสมัย
ยกตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่เห็นว่าล้าสมัยและไม่เป็นธรรม เพราะแนวคิดของสังคมในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้วหรือไม่ก็ได้
ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม เพราะแนวคิดของสังคมในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ซึ่งแต่เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2478 บัญญัติให้สามีแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการสินสมรส ซึ่งสภาพสังคมปัจจุบันฝ่ายหญิงก็มีส่วนช่วยหารายได้ให้แก่ครอบครัว และรัฐธรรมนูญยอมรับให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาย จึงไม่เป็นธรรมที่จะให้ฝ่ายชายแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ให้สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักกฎหมายดังกล่าวอีกหลายครั้ง ล่าสุดในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการแก้ไขให้สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสโดยลำพังได้ เว้นแต่ในกิจการที่สำคัญบางประการที่ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏตามมาตรา 1476 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
11.1.2 บทบัญญัติที่ไม่สอดคล้อง
ยกตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่เห็นว่าไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในยุคปัจจุบัน โดยปัจจุบันได้มีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกใช้แล้ว
ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในยุคปัจจุบัน เช่น พระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกราชอาณาจักร พุทธศักราช พ.ศ. 2483 และพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร พุทธศักราช 2483 ซึ่งในปัจจุบันมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 234 วรรคสอง บัญญัติว่า “การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้” และกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 แล้ว
11.2 ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายกับความเป็นธรรม
1. เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถบัญญัติขึ้นให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงทุกกรณีได้ จึงจำเป็นต้องมีบท บัญญัติที่ให้ดุลพินิจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อความยืดหยุ่น ให้สามารถปรับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมได้ตามความเหมาะสมแก่กรณี
2. ในการให้ดุลพินิจในกฎหมาย อาจเป็นการให้ดุลพินิจโดยเด็ดขาดแก่ผู้ใช้กฎหมาย หรือโดยกำหนดแนวทาง หรือกรอบในการใช้ดุลพินิจหรือไม่ก็ได้ ตามความเหมาะสมหรือความสำคัญของเรื่องที่กฎหมายนั้นให้ดุลพินิจไว้
3. การใช้ดุลพินิจย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ใช้ดุลพินิจที่กฎหมายกำหนดไว้ บางครั้งอาจมีการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมโดยองค์กรต่างๆ
11.2.1 ดุลพินิจในกฎหมาย
กฎหมายฉบับหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏแกเจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าอาคารหรือส่วนของอาคารใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต่อเนื่องกับอาคาร มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือปล่อยให้มีสภาพรกรุงรังจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต่อเนื่องกับอาคารทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือจัดการอย่างอื่นตามความจำเป็นเพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ ภายในเวลาซึ่งกำหนดให้ตามสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
บทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นมีลักษณะเป็นการให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากก่อนออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าอาคารมีสภาพที่ “อาจเป็นอันตราต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย” หรือไม่
11.2.2 แนวทางการใช้ดุลพินิจ
เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการใช้ดุลพินิจในกฎหมาย
กฎหมายจำเป็นต้องกำหนดแนวทางในการใช้ดุลพินิจเพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ดุลพินิจในการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องเพราะผุ้ใช้ดุลพินิจได้คำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆที่กฎหมายวางกรอบไว้ และเพื่อเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจอีกทางหนึ่งด้วย
11.2.3 การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายตุลาการ โดยทั่วไปสามารถกระทำได้โดยวิธีใด
การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายตุลาการ โดยทั่วไปสามารถกระทำได้โดยการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามมาตรา 223-มาตรา 246 และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ตามมาตรา 247-มาตรา 252 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามลำดับ หรือการอุทธรณ์ฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษอื่นของศาลยุติธรรม เช่นศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร
11.3 การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม
1. กฎหมายทั้งหลายตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ประการหนึ่ง คือ เพื่อการรักษาความสงบสุขและความเป็นธรรมของสังคมโดยรวม บนพื้นฐานของความชอบธรรมตามกฎหมายและศีลธรรม
2. การใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือ การใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด หรือในการที่ต่อมาบทบัญญัติของกฎหมายอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยสาเหตุต่างๆ ผู้ใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องหาหนทางใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
3. เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในยุคหนึ่ง อาจมองว่าไม่เป็นธรรมในอีกยุคสมัยหนึ่งหากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กฎหมายทั้งฉบับหรือบทบัญญัติบางบทบัญญัติของกฎหมายก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง โดยที่ผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถหาหนทางในการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมได้ จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
11.3.1 เจตนารมณ์ของกฎหมายกับความเป็นธรรม
เพราะเหตุใดเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม
เจตนารมณ์ของกฎหมายมีความสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในระบบที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยหลักแล้วผู้ใช้กฎหมายจำเป็น ต้องใช้กฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชน และในการตรากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นย่อมมีความมุ่งหมายที่จะสร้างความสงบสุขและเป็นธรรมแก่สังคม หรือเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมอยู่แล้ว
11.3.2 การใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้จากหลายองค์ประกอบเช่นจากเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความเป็นธรรมและจากตัวของผู้ใช้กฎหมายที่ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจ
11.3.3 การแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม
การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นหน้าที่ของผู้ใด
การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน