วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

บทความที่11 กฎหมายกับความเป็นธรรมในสังคม




1. กฎหมายเป็นสิ่งที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข และเพื่อเป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ดี กฎหมายบางฉบับอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายที่มีบทบัญญัติล้าสมัย หรือมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในสังคม
2. กฎหมายไม่สามารถบัญญัติขึ้นให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงทุกกรณีได้ จึงมีบทบัญญัติให้ดุลพินิจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น โดยอาจกำหนดแนวทางหรือกรอบในการใช้ดุลพินิจไว้หรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งมีกระบวนการแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
3. ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยกฎหมาย นอกจากกฎหมายจะตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อความเป็นธรรมแล้ว ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเมื่อพบว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ย่อมจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายนั้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อไปด้วย

11.1 บทบัญญัติของกฎหมายที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม
1. ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวความคิดของประชาชนในสังคมได้เปลี่ยน แปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการและและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสภาพสังคมยุคหนึ่งๆ ล้าสมัยไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน การยังคงใช้กฎหมายที่ล้าสมัย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องและสังคม
2. กฎหมายบางฉบับบัญญัติขึ้นบนพื้นฐานของสภาวการณ์ช่วงหนึ่งๆ ของสังคมต่อมาเมื่อสภาวการณ์นั้นๆ ได้สิ้นสุดลงหรือเปลี่ยนแปลงไป การยังคงใช้กฎหมายนั้นต่อไปจึงไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สังคมหรือกฎหมายนั้นไม่อาจนำมาใช้บังคับได้โดยปริยาย

11.1.1 บทบัญญัติที่ล้าสมัย
ยกตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่เห็นว่าล้าสมัยและไม่เป็นธรรม เพราะแนวคิดของสังคมในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้วหรือไม่ก็ได้
ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม เพราะแนวคิดของสังคมในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ซึ่งแต่เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2478 บัญญัติให้สามีแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการสินสมรส ซึ่งสภาพสังคมปัจจุบันฝ่ายหญิงก็มีส่วนช่วยหารายได้ให้แก่ครอบครัว และรัฐธรรมนูญยอมรับให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาย จึงไม่เป็นธรรมที่จะให้ฝ่ายชายแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ให้สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักกฎหมายดังกล่าวอีกหลายครั้ง ล่าสุดในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการแก้ไขให้สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสโดยลำพังได้ เว้นแต่ในกิจการที่สำคัญบางประการที่ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏตามมาตรา 1476 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

11.1.2 บทบัญญัติที่ไม่สอดคล้อง
ยกตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่เห็นว่าไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในยุคปัจจุบัน โดยปัจจุบันได้มีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกใช้แล้ว
ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในยุคปัจจุบัน เช่น พระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกราชอาณาจักร พุทธศักราช พ.ศ. 2483 และพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร พุทธศักราช 2483 ซึ่งในปัจจุบันมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 234 วรรคสอง บัญญัติว่า “การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้” และกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 แล้ว

11.2 ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายกับความเป็นธรรม
1. เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถบัญญัติขึ้นให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงทุกกรณีได้ จึงจำเป็นต้องมีบท บัญญัติที่ให้ดุลพินิจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อความยืดหยุ่น ให้สามารถปรับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมได้ตามความเหมาะสมแก่กรณี
2. ในการให้ดุลพินิจในกฎหมาย อาจเป็นการให้ดุลพินิจโดยเด็ดขาดแก่ผู้ใช้กฎหมาย หรือโดยกำหนดแนวทาง หรือกรอบในการใช้ดุลพินิจหรือไม่ก็ได้ ตามความเหมาะสมหรือความสำคัญของเรื่องที่กฎหมายนั้นให้ดุลพินิจไว้
3. การใช้ดุลพินิจย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ใช้ดุลพินิจที่กฎหมายกำหนดไว้ บางครั้งอาจมีการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมโดยองค์กรต่างๆ

11.2.1 ดุลพินิจในกฎหมาย
กฎหมายฉบับหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏแกเจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าอาคารหรือส่วนของอาคารใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต่อเนื่องกับอาคาร มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือปล่อยให้มีสภาพรกรุงรังจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต่อเนื่องกับอาคารทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือจัดการอย่างอื่นตามความจำเป็นเพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ ภายในเวลาซึ่งกำหนดให้ตามสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
บทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นมีลักษณะเป็นการให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากก่อนออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าอาคารมีสภาพที่ “อาจเป็นอันตราต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือมีลักษณะไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย”
หรือไม่

11.2.2 แนวทางการใช้ดุลพินิจ
เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการใช้ดุลพินิจในกฎหมาย
กฎหมายจำเป็นต้องกำหนดแนวทางในการใช้ดุลพินิจเพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ดุลพินิจในการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องเพราะผุ้ใช้ดุลพินิจได้คำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆที่กฎหมายวางกรอบไว้ และเพื่อเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจอีกทางหนึ่งด้วย

11.2.3 การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายตุลาการ โดยทั่วไปสามารถกระทำได้โดยวิธีใด
การแก้ไขการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายตุลาการ โดยทั่วไปสามารถกระทำได้โดยการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามมาตรา 223-มาตรา 246 และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ตามมาตรา 247-มาตรา 252 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามลำดับ หรือการอุทธรณ์ฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษอื่นของศาลยุติธรรม เช่นศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร

11.3 การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม
1. กฎหมายทั้งหลายตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ประการหนึ่ง คือ เพื่อการรักษาความสงบสุขและความเป็นธรรมของสังคมโดยรวม บนพื้นฐานของความชอบธรรมตามกฎหมายและศีลธรรม
2. การใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือ การใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด หรือในการที่ต่อมาบทบัญญัติของกฎหมายอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยสาเหตุต่างๆ ผู้ใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องหาหนทางใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
3. เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในยุคหนึ่ง อาจมองว่าไม่เป็นธรรมในอีกยุคสมัยหนึ่งหากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กฎหมายทั้งฉบับหรือบทบัญญัติบางบทบัญญัติของกฎหมายก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง โดยที่ผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถหาหนทางในการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมได้ จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป

11.3.1 เจตนารมณ์ของกฎหมายกับความเป็นธรรม
เพราะเหตุใดเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม
เจตนารมณ์ของกฎหมายมีความสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในระบบที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยหลักแล้วผู้ใช้กฎหมายจำเป็น ต้องใช้กฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชน และในการตรากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นย่อมมีความมุ่งหมายที่จะสร้างความสงบสุขและเป็นธรรมแก่สังคม หรือเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมอยู่แล้ว

11.3.2 การใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
การใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้จากหลายองค์ประกอบเช่นจากเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความเป็นธรรมและจากตัวของผู้ใช้กฎหมายที่ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจ

11.3.3 การแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม
การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นหน้าที่ของผู้ใด
การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

2 ความคิดเห็น:

enjoy subjiect กล่าวว่า...

น่าปวดหัวจัง

กฏหมายเยอะมากเลยอ่ะ

แต่ก้อดี

สังคมจะได้สงบ

Unknown กล่าวว่า...

บ้านเราใช้ระบบที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นหมายความว่าไม่มีการยืดหยุ่น ไม่มีการปรับตามสภาพดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และอนาคต การเมือง ความมั่นคงไม่คำนึงถึง การให้โอกาส การส่งเสริมนั้นเป็นหลักการใช้กฎหมายที่ดีหรือไม่